"โซเชียลมีเดียเปรียบเสมือนเซ็กซ์ของวัยรุ่นที่ทุกคนอยากลอง แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร สุดท้ายเมื่อได้ลองแล้วกลับรู้สึกแปลกใจ
เพราะว่ามันไม่ได้ดีอย่างที่นึกหวังเอาไว้"
เปิดเวทีด้วยคำจำกัดความโดนใจแสนร้อนแรงแต่แอบติดเรทนิดๆ จากคำกล่าวของ “Avinash Kaushilk” ผู้เชี่ยวชาญจากกูเกิลโดย “วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โวเน่ จำกัด ที่ใช้นำเข้าสู่สมรภูมิรบในโลกโซเชียล เน็ตเวิร์ค ที่งานสัมมนา “ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ซัมมิต 2012” จัดโดย บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ในเครือเนชั่น
ก่อนจะชี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงคือมันไม่ได้ง่ายอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เอาไว้ใช้ร่วมกับเว็บเบสด์ และโมบายเทคโนโลยีสำหรับเปลี่ยนการสื่อสารธรรมดาเป็นการพูดคุยที่มีการโต้ตอบระหว่างกัน
เขากล่าวว่า จากนี้ไปจะไม่ใช่เวลามาเล่นอีกแล้ว ที่ต้องทำคือมองหากลยุทธ์สำหรับตัวเอง ซึ่งไม่ใช่แค่การตั้งความหวัง หยุดคิดเรื่องการสร้างแคมเปญ แล้วหันไปเริ่มคิดคำพูดดีๆ และมองหาความช่วยเหลือจากคนอื่นหากคิดว่าต้องการ รวมทั้ง จำไว้ด้วยว่าโซเชียลมีเดียไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง หากจะแก้ปัญหาต้องกลับไปคิดที่คอร์บิซิเนสเสียก่อน และโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมหากการบริการลูกค้ายังไม่ดีพอ
“ตัดสินใจทำเสียก่อนโดยไม่ต้องรอให้เห็นตัวอย่างของคนอื่นๆ มิเช่นนั้นอาจสายเกินไป มากกว่านั้นอย่าลืมคิดถึงประเด็นที่ว่าไม่อาจหาเพื่อนกว่า 500 ล้านคนได้โดยปราศจากการสร้างศัตรูจำนวนหนึ่งเลย” วิลาสแนะ
ข้อมูลล้นแต่ไม่โดน
'พรทิพย์ กองชุน' หัวหน้าฝ่ายการตลาด กูเกิลประเทศไทย เสนอมุมมองเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่มีต่อแบรนด์ว่า ทุกวันนี้ข้อมูลถูกส่งออกมาเหลือล้น แต่มักไม่ตรงใจ ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือการส่งสารให้ตรงกับที่ลูกค้าต้องการจะฟัง จากนั้นเข้าไปโฟกัสเรื่องของวิธีการทำให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน นำไปสู่คำถามที่ว่าทำอย่างให้เกิดการแนะนำกระจายสินค้าให้มากที่สุด และสุดท้ายวางกลยุทธ์ให้ครอบคลุมพฤติกรรมของคน
ข้อมูลระบุว่า 77% ของคอนเทนท์ในโซเชียลมีเดียถูกสร้างโดยเหล่าลูกค้า และ 90% จะรู้สึกเชื่อที่เพื่อนหรือคนรู้จักของเขาบอกและนำไปบอกต่อให้คนอื่น
เธอชี้ว่า นักการตลาดทราบดีอยู่แล้วว่าไม่ควรทำตลาดแบบแมสแต่ควรทำเป็นเซ็กเมนท์แทน เพราะลูกค้าแต่ละคนรอคอยคอนเทนท์ที่ต่างกัน ส่วนวิธีการเข้าถึงที่ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดควรนำไปผสมผสานร่วมกับเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ประเภทอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยบอกว่ามีนักการตลาดที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือพร้อมกับผสมผสานสื่อประเภทอื่นเข้าไปด้วยเพียง 25% ส่วนอีก 75% ยังทำแยกออกมาเป็นชิ้นๆ ซึ่งไม่ถูกต้อง
สร้าง 'แพลตฟอร์ม' ทรงพลัง
พรทิพย์สะท้อนประสบการณ์ของกูเกิลต่อการพัฒนากูเกิลพลัสว่า อยู่ภายใต้โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรจะสื่อสารกับลูกค้าได้ดีที่สุด ใน 3 คอนเซปต์คือ 1. การสร้างตัวตน 2. ส่งสารให้ตรงใจ และ 3. นำไปสู่การแชร์ต่อกัน
"การตลาดไม่ได้แยกเป็นชิ้นๆ สิ่งที่เรามองหาคือการสร้างพลังให้เกิดบนทุกแพลตฟอร์มของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอยู่ขณะนี้"
ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้กูเกิลพลัสส่วนใหญ่อายุ 18-24 ปี ทั่วโลกผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ในไทยสัดส่วนพอๆ กัน ในความแตกต่างที่วางตัวเองไว้คือเครื่องมือสำหรับการเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ของกูเกิลที่มีทั้งหมดกลายเป็นแคมเปญที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกัน
“เราไม่ใช่โซเชียลมีเดีย แต่เป็นโซเชียลแพลตฟอร์ม ที่ทุกอย่างไม่ได้จบแค่กูเกิลพลัสแต่ข้ามไปที่อื่นๆ ตามพฤติกรรมของลูกค้าที่ไม่ได้อยู่กับสิ่งใดสิ่งเดียวทั้งวัน”
"เสิร์ช" เรียกรายได้
'ปภาดา อมรนุรัตน์กุล' กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรดแรงค์ จำกัด กล่าวว่า ผลสำรวจจากอีมาร์เก็ตเตอร์ ระบุว่า การค้นหาของลูกค้าทำผ่านเสิร์ชเอ็นจินคิดเป็น 57% ร้านค้าปลีก 18% เว็บไซต์ของแบรนด์ 20% เฟซบุ๊ค 3% และทวิตเตอร์ 2%
ทั้งนี้ ส่วนของการเสิร์ช คีย์เวิร์ดยอดฮิตตลอดการมากว่า 10 ปีคือ เกม ฟังเพลง ดูดวง หางาน ในกลุ่มนี้การเข้าไปเจาะจะทำได้ยากและมีราคาแพง แต่ยังมีบางประเภทที่มาแรงเป็นช่วงๆ ตามกระแส เช่น คันหู หวย ทำนายฝัน
เธอให้ข้อมูลว่า วิธีการเลือกเครื่องมือควรพิจารณาตามมาร์เก็ตแชร์ของแต่ละประเทศ เช่นทั่วโลกกูเกิลกินสัดส่วนไปกว่า 79% อันดับ 2 คือ ไป๋ตู 11% จากเหตุผลง่ายๆ คือประเทศจีนมีประชากรจำนวนมาก ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ถ้าสังเกตดีๆ จะแตกต่างกันด้วยปัจจัยทางภาษา จะมีก็แต่ในประเทศที่มีภาษาเป็นของตัวเอง แต่ถูกกูเกิลกินตลาดไปมากกว่า 99%
“คำถามยอดฮิตคือทำอย่างไรจะพาตัวเองไปติดท็อปฮิตในผลการค้นหา เรื่องนี้คีย์เวิร์ดสำคัญมาก จำเป็นต้องทำให้ตรงกับตัวตนของตัวเองจริงๆ พร้อมกับมองให้ทะลุว่าฮีโร่โปรดักท์ของตัวเองคืออะไร”
ไทยแลนด์เลิฟเฟซบุ๊คมากๆ
'สุธีรพันธ์ สักรวัตร' แบรนด์ คอมมูนิเคชั่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม 1 สกาย จำกัด วิเคราะห์ว่า หลังเปิดขายไอพีโอคาดว่ามูลค่าของเฟซบุ๊คมีโอกาสแตะ 1 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าบริษัทเทคโนโลยีด้วยกันอย่างกูเกิลที่มี 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และซังก้าที่มีมูลค่าราว 7 พันล้านดอลลาร์ ขณะนี้ทุกคนมองเห็นโอกาสจากสิ่งที่สะท้อนมานี้ ขณะเดียวกันตัวเฟซบุ๊คเองไม่เคยหยุดนิ่ง พวกเขาพยายามไขว่คว้าหาชัยชนะอยู่ตลอดเวลาโดยที่มองเรื่องเงินเป็นปัจจัยรองลงมา
กลับมาที่ประเทศไทยปัจจุบันผู้ใช้งานอยู่อันดับ 16 ของโลก มีอยู่จำนวน 13 ล้านคน ครองสัดส่วน 80% ของคนใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 20 ล้านคน เชิงการตลาดผลสำรวจบอกว่ากลุ่มที่มีสัดส่วนใหญ่สุดคือคนอายุ 18-34 ปีคิดเป็น 63% รองลงมา 13-15 ปี 11% ตามด้วย 35-44 ปี และ 16-17 ปี อย่างละ 10% จากนั้น 45-54 ปี 4% อายุ 65 ปี 1% และ 55-64 ปีอีก 1%
“ไทยแลนด์เลิฟเฟซบุ๊คมากๆ เชื่อว่าเจเนอเรชั่นถัดไปชีวิตของพวกเขาจะอยู่บนเฟซบุ๊คตั้งแต่เกิดมาเลย”
เขาแนะว่า เทคนิคการสร้างความสำเร็จต้องสร้างความสม่ำเสมอด้วยการโพสต์ข้อความทุกวัน โฟกัสกับการสร้างมูลค่าของแบรนด์ เรียกหาการตอบสนองจากแฟนๆ ทำให้มันเป็นเรื่องสนุกและอย่าทำอะไรที่เหมือนพยายามฮาร์ดเซลจนเกินไป
“ทำอะไรที่มันง่ายๆ สั้นๆ เน้นคำว่าทำอย่างไร หลีกเลี่ยงการไปถามว่าทำไม เพราะคนใช้เฟซบุ๊คไม่มีเวลามาหาเหตุผลมากขนาดนั้น” สุธีรพันธ์ กล่าว
“วรวิสุทธ์ ภิญโญญาง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิบ๊อกซ์ จำกัด และคอลัมนิสต์ด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการตลาด กล่าวเสริมว่า เทคนิคการสร้างความโด่งดังให้แบรนด์ ไม่จำเป็นต้องใช้สื่อกระแสหลักเสมอไป หากมีคอนเทนท์ที่ดีๆ ก็มีโอกาสแจ้งเกิดได้ ที่ผ่านมามีตัวอย่างอยู่หลายกรณีที่ใช้สื่อสมัยใหม่เพียงอย่างเดียวแต่ออกมาแล้วดี ทั้งยังวัดสอบได้ว่าผลตอบรับเป็นอย่างไร
พร้อมกับแนะว่า บนเส้นทางเดินการคิดของลูกค้า ระยะสั้นหากขายสินค้าได้ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่จุดที่ยากที่สุดและผลที่ต้องทำให้ได้คือการทำให้ผู้บริโภคเกิดความผูกพันกับแบรนด์ ซึ่งสิ่งนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจ ในระยะยาว
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น